โดย บริพร อุไรวัฒนา, จรรยารักษ์ ตันติพลากร, ศิรดา เตชะรักษ์พงษ์ และ อารยา ทองธีรภาพ
1. บทนำ
ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อกำไรและผลประกอบการของภาคธุรกิจที่มีรายได้รายจ่ายเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถป้องกันหรือบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าวได้หลายวิธี โดยเครื่องมือที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น สัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (Forward) และสิทธิในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (Option) ทั้งนี้ นอกจากสองเครื่องมือที่กล่าวมาแล้วยังมีเครื่องมือที่สำคัญอีกประเภทหนึ่ง คือ บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit Account : FCD) ซึ่งสามารถใช้บริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ข้อมูลการใช้บัญชี FCD ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการผ่อนคลายเกณฑ์บัญชี FCD ครั้งสำคัญเมื่อสิ้นปี 2563 ในภาพรวมเห็นการขยายตัวชัดเจน แต่ไม่มากนักในกลุ่มนิติบุคคล งานเขียนชิ้นนี้จึงมุ่งเน้นศึกษาการใช้บัญชี FCD ของคนไทย รวมถึงการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้บัญชีในเชิงลึก เพื่อสร้างความเข้าใจโครงสร้างและพฤติกรรมการใช้บัญชี FCD เพื่อหาแนวทางผลักดันให้คนไทยสามารถบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนผ่านการใช้บัญชี FCD มากขึ้น
2. ความหมายและประโยชน์ของบัญชี FCD
บัญชี FCD คือ บัญชีเงินฝากสำหรับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ต้องการฝากเงินเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ โดยในปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ในไทยให้บริการรับฝากบัญชี FCD มากกว่า 15 สกุล เช่น ดอลลาร์ สรอ. (USD) เยน (JPY) ยูโร (EUR) หยวน (CNY) และสกุลอื่น ๆ เป็นต้น โดยลูกค้าสามารถเปิดบัญชี FCD ได้ในหลายรูปแบบ เช่น บัญชีกระแสรายวัน บัญชีออมทรัพย์ และบัญชีฝากประจำ เช่นเดียวกันกับบัญชีเงินบาท
บัญชี FCD มีประโยชน์ คือ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการรายรับรายจ่ายที่เป็นเงินตราต่างประเทศได้ ซึ่งเหมาะกับผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกที่มีรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกันและมีสภาพคล่องเพียงพอที่สามารถเก็บรักษาเงินตราต่างประเทศเพื่อรอชำระรายจ่ายในอนาคตได้ ซึ่งแตกต่างจากเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนประเภทอื่น เช่น Forward และ Option ที่เหมาะกับผู้ประกอบการนำเข้าหรือส่งออกที่มีรายได้หรือรายจ่ายเพียงด้านเดียว หรือรายได้และรายจ่ายมีสกุลเงินแตกต่างกัน หรือต้องการสภาพคล่องมาใช้หมุนเวียนมากกว่าเก็บไว้ในบัญชี
3. การผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD ตามแผนการผลักดัน FX Ecosystem ใหม่ของ ธปท.
และผลจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD
จากประโยชน์ดังกล่าว ธปท. จึงมีนโยบายส่งเสริมให้คนไทยใช้บัญชี FCD ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงลดปัญหาอุปสรรคจากการใช้บัญชี FCD ดังนั้น ธปท. จึงได้ผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชี FCD ครั้งสำคัญเมื่อ 5 ธ.ค. 63 ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ลดประเภทบัญชีเหลือประเภทเดียว และไม่จำกัดยอดคงค้าง
2. บุคคลไทยสามารถโอนระหว่างกันผ่านบัญชี FCD ได้เสรี และซื้อเงินตราต่างประเทศฝากเข้าบัญชี FCD ของตนเองได้เสรี โดยไม่จำกัดวงเงิน และไม่ต้องแสดงเอกสารภาระ
ทั้งนี้ ธปท. ได้ดำเนินการไปพร้อมกับการผ่อนคลายเกณฑ์ด้านอื่น ๆ ภายใต้แนวทางการผลักดันการปรับ FX Ecosystem ใหม่ เช่น การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการเปิดบัญชี FCD เพิ่มเติมตาม link แนบ (https://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/ForeignExchangeMarket/ForeignExchangeHedgingManual/Pages/FCD.aspx)
ผลจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD พบว่า ปริมาณธุรกรรมบัญชี FCD เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง (รูปที่ 1 กราฟแท่งสีฟ้า) โดยเฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้น 41% จาก 29.87 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงก่อนผ่อนคลาย (ม.ค.61 – พ.ย.63) เป็น 41.98 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในช่วงหลังผ่อนคลาย (ธ.ค.63 – ธ.ค.64)
นอกจากนี้ หากพิจารณาสัดส่วนปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD เทียบกับปริมาณธุรกรรมเงินตราต่างประเทศโดยรวม (รูปที่ 1 กราฟเส้น) พบว่า สัดส่วนปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD เฉลี่ยรายเดือนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 41% ในช่วงก่อนผ่อนคลาย เป็น 49% ในช่วงหลังผ่อนคลาย
รูปที่ 2 (กราฟเส้น) แสดงถึง จำนวนผู้ที่มีบัญชี FCD1 เพิ่มขึ้น โดยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยในช่วงก่อนผ่อนคลาย อยู่ที่ 1.8% ต่อเดือน ในขณะที่อัตราการขยายตัวในช่วงหลังผ่อนคลายเพิ่มขึ้นเป็น 3.8% ต่อเดือน และจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน (รูปที่ 2 กราฟแท่ง) โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 3.1% ต่อเดือน เทียบกับ 1.9% ต่อเดือนในช่วงก่อนการผ่อนคลาย ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การขยายตัวในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2564 เพิ่มสูงขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่างธนาคารกับร้านทองในการให้บริการซื้อขายทองออนไลน์และใช้บัญชี FCD เป็นช่องทางในการชำระเงิน
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลยอดคงค้างบัญชี FCD ณ สิ้นเดือน ในช่วง ม.ค.632 – ธ.ค.64 (รูปที่ 3 – 5) แสดงให้เห็นว่า ยอดคงค้างในบัญชี FCD ณ สิ้นเดือน ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากยอดคงค้างในบัญชีส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการบริหารสภาพคล่อง โดยบัญชี FCD ของทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดาส่วนใหญ่เป็นสกุลดอลลาร์ สรอ. (USD) เนื่องจากเป็นสกุลเงินหลักที่ใช้ในการซื้อขายสินค้าบริการและการลงทุน
เพื่อให้เข้าใจในพฤติกรรมของผู้ใช้บัญชี FCD มากขึ้น คณะผู้เขียนจึงได้ศึกษาพฤติกรรมการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ในเชิงลึก ซึ่งจากการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการใช้บัญชี FCD ของนิติบุคคลมีความแตกต่างจากพฤติกรรมของบุคคลธรรมดา ดังนั้น ผู้เขียนจึงแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
3.1 พฤติกรรมการใช้บัญชี FCD ของนิติบุคคล และผลการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD สำหรับนิติบุคคล
ในบรรดานิติบุคคลที่ทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศ พบว่าจำนวนนิติบุคคลที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ยังมีไม่มากนัก โดยเฉลี่ยในแต่ละปี (ช่วงปี 2561 – 2564) คิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 (29%) ของจำนวนนิติบุคคลที่ทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศทั้งหมด (11,037 ราย จากทั้งหมด 38,024 ราย) (รูปที่ 6) และสัดส่วนดังกล่าวไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 – 2564) อย่างไรก็ดี หลังจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD พบว่า สัดส่วนนิติบุคคลที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD โดยเฉลี่ยแต่ละปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากเดิม 28% ในช่วงก่อนผ่อนคลาย เพิ่มเป็น 31% ในช่วงหลังผ่อนคลาย รายละเอียดดังตารางที่ 1
โดยตลาดบัญชี FCD ของนิติบุคคลไทยมีการกระจุกตัวของปริมาณธุรกรรมอยู่กับนิติบุคคลเพียงไม่กี่ราย ซึ่งจากข้อมูลสัดส่วนปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ของนิติบุคคลในช่วงปี 2561 – 2564 พบว่า จำนวนนิติบุคคลผู้ทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD คิดเป็น 5% (จำนวน 753 ราย จากทั้งหมด 15,144 ราย) ครอบคลุมปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ส่วนใหญ่มากถึง 90% (1,417 พันล้านดอลลาร์ สรอ. จากทั้งหมด 1,583 พันล้านดอลลาร์ สรอ.) ซึ่งเมื่อพิจารณาสัดส่วนการกระจุกตัวดังกล่าวในช่วงก่อนและหลังผ่อนคลายหลักเกณฑ์ พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
ในการวิเคราะห์พฤติกรรมนิติบุคคลที่ใช้บัญชี FCD ผู้เขียนแบ่งแง่มุมในการวิเคราะห์เป็นดังนี้ (1) วัตถุประสงค์หลักของผู้ที่ใช้บัญชี FCD (2) กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ที่ใช้บัญชี FCD (3) ความต่อเนื่องในการใช้ และ (4) ความสมดุลระหว่างปริมาณธุรกรรมด้านขาเข้าและด้านขาออก (inflow-outflow)
3.1.1 วัตถุประสงค์หลักของผู้ที่ใช้บัญชี FCD
จากปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ทั้งหมด ในช่วง ม.ค.61 – ธ.ค.64 พบว่า นิติบุคคลส่วนใหญ่ใช้บัญชี FCD เพื่อวัตถุประสงค์ค่าสินค้าส่งออกและนำเข้า (36%) และการลงทุน/กู้/ให้กู้กับกิจการในเครือในต่างประเทศ (17%) (ตารางที่ 2)
3.1.2 กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่ที่ใช้บัญชี FCD
กลุ่มธุรกิจที่มีปริมาณธุรกรรมฝากถอนรวมสูงสุด 3 อันดับแรก (34% ของปริมาณธุรกรรมฝากถอนรวมทั้งหมด) ในช่วง ม.ค.61 – ธ.ค.64 (รูปที่ 7) ได้แก่ ธุรกิจผลิตคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ (14%) ธุรกิจผลิตถ่านหินและปิโตรเลียม (10%) และ ธุรกิจกิจกรรมบริการทางการเงิน (10%) ซึ่งกลุ่มธุรกิจผู้ใช้ FCD ดังกล่าวเป็นกลุ่มที่มีธุรกรรมนำเข้าและส่งออกทั้ง 2 ด้าน
3.1.3 ความต่อเนื่องในการใช้บัญชี FCD
ในการวัดความต่อเนื่องในการใช้บัญชี FCD ผู้เขียนใช้ดัชนีความถี่ (Frequency Index) ซึ่งคำนวณจาก จำนวนเดือนที่มีการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ของนิติบุคคล หารด้วยจำนวนเดือนทั้งหมดตั้งแต่นิติบุคคลนั้นได้เริ่มทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ในช่วง ม.ค.61 – ธ.ค.64 (รวม 48 เดือน)3 ซึ่งหากค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่า นิติบุคคลนั้นมีความถี่หรือความต่อเนื่องในการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD มาก และหากค่าเข้าใกล้ 0 แสดงว่า นิติบุคคลนั้นมีความถี่หรือความต่อเนื่องในการทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD น้อย
จากการวิเคราะห์แสดงให้เห็นว่า มีจำนวนนิติบุคคลประมาณครึ่งหนึ่งที่ใช้บัญชี FCD อย่างต่อเนื่อง (Frequency Index ตั้งแต่ 0.5 ถึง 1.0) (รูปที่ 8) (8,165 ราย จากทั้งหมด 15,144 รายที่มีการใช้บัญชี FCD ในช่วง 4 ปี) โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ Manufacturing ที่ใช้บัญชี FCD อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการนำเข้าและส่งออกเป็นประจำ
3.1.4 ความสมดุลระหว่าง inflow-outflow ของผู้ใช้บัญชี FCD
ในการวัดความสมดุลระหว่าง inflow-outflow ของผู้ใช้บัญชี FCD ผู้เขียนใช้ดัชนีความสมดุลของปริมาณธุรกรรมเงินตราต่างประเทศด้านขาเข้าและขาออก (Inflow-Outflow Balance Index) คำนวณจาก 1 ลบด้วย ค่าสัมบูรณ์ (Absolute Value) ของผลลบของธุรกรรมด้านขาเข้าและขาออกหารด้วยผลรวมของธุรกรรมด้านขาเข้าและขาออก ซึ่งหากค่าเข้าใกล้ 1 แสดงว่า นิติบุคคลนั้นมีธุรกรรมด้านขาเข้าและขาออกในปริมาณที่สมดุลกัน และหากค่าเข้าใกล้ 0 แสดงว่า มีธุรกรรมเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
จากการศึกษา พบว่า นิติบุคคลส่วนใหญ่มีธุรกรรมค่อนไปทางด้านในด้านหนึ่ง (Inflow-Outflow Balance Index อยู่ที่แท่งด้านซ้ายสุดหรือ 0.1) (รูปที่ 9) ทั้งนี้ กลุ่มนิติบุคคลที่มีความสมดุลของปริมาณธุรกรรมเงินตราต่างประเทศระหว่างด้านขาเข้าและขาออก ซึ่งมีค่า Inflow-Outflow Balance Index ตั้งแต่ 0.5 ถึง 1.0 และใช้บัญชี FCD คิดเป็นสัดส่วน 68% ของกลุ่มนิติบุคคลที่มีความสมดุลของปริมาณธุรกรรมเงินตราต่างประเทศฯ และเพื่อประเมินผลการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD จึงแบ่งการพิจารณาเป็นช่วงก่อนผ่อนคลาย (ม.ค.61 – พ.ย.63 รวม 35 เดือน) และช่วงหลังผ่อนคลาย (ธ.ค.63 – ธ.ค.64 รวม 13 เดือน) ทำให้พบว่า สัดส่วนดังกล่าวเพิ่มขึ้นจาก 68% ในช่วงก่อนผ่อนคลาย เพิ่มเป็น 75% ในช่วงหลังผ่อนคลาย
นอกจากนี้ ผลจากการวิเคราะห์ Inflow-Outflow Balance Index ในช่วง ม.ค.61 – ธ.ค.64 แสดงให้เห็นว่า มีนิติบุคคลที่มีธุรกรรมค่อนข้างสมดุลกันแต่ยังไม่ใช้บัญชี FCD อยู่ 4,074 ราย ซึ่งแสดงถึงความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนมาใช้บัญชี FCD ของนิติบุคคลกลุ่มนี้ในอนาคต โดยเฉพาะหลังจากที่ ธปท. มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์การใช้บัญชี FCD และนโยบายสนับสนุนอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้นิติบุคคลไทยได้รับประโยชน์ในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนและบริหารสภาพคล่องเงินตราต่างประเทศจากการใช้บัญชี FCD ได้มากขึ้น
3.2 พฤติกรรมการใช้บัญชี FCD ของบุคคลธรรมดา และผลการผ่อนคลายหลักเกณฑ์บัญชี FCD สำหรับบุคคลธรรมดา
จากข้อมูลจำนวนบัญชี FCD ณ สิ้น ธ.ค.64 พบว่า บัญชีของบุคคลธรรมดา มีจำนวนทั้งสิ้น 233,973 บัญชี ซึ่งสูงกว่าจำนวนบัญชีของนิติบุคคลประมาณ 4.6 เท่า (นิติบุคคลมีจำนวนบัญชีรวม 50,660 บัญชี) โดยในอดีตเหตุผลของการเปิดบัญชีส่วนใหญ่ คือ การฝากเงินเพื่อเตรียมไว้สำหรับชำระภาระในอนาคต เช่น การเดินทางไปต่างประเทศ หรือเพื่อศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งนี้ บัญชี FCD ของบุคคลธรรมดาจะมีปริมาณธุรกรรมหรือการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างน้อย
ภายหลังจากที่ ธปท. ได้มีการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้บัญชี FCD เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้บุคคลธรรมดาที่เป็นนักลงทุนเปิดบัญชี FCD มากขึ้น และจากรูปที่ 10 ปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2561 ซึ่งบุคคลธรรมดามีธุรกรรมฝากถอนเพียง 1.4 พันล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มเป็น 3.1 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ในปี 2564 โดยส่วนมากเกิดจากวัตถุประสงค์เงินลงทุน ซึ่งรวมการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศและการซื้อขายทองคำในประเทศเป็นสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. (USD) เป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ของบุคคลธรรมดายังกระจุกตัวอยู่กับบุคคลเพียงไม่กี่ราย โดย 90% ของปริมาณธุรกรรมผ่านบัญชี FCD มีจำนวนรายผู้ทำธุรกรรมเพียง 4,642 ราย ซึ่งคิดเป็น 11% ของจำนวนผู้ทำธุรกรรมที่เป็นบุคคลธรรมดาทั้งหมด (44,143 ราย) ซึ่งเมื่อพิจารณาสัดส่วนการกระจุกตัวดังกล่าวในช่วงก่อนและหลังผ่อนคลายหลักเกณฑ์ พบว่า ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
4. สาเหตุที่บุคคลบางกลุ่มไม่ใช้บัญชี FCD
จากการสอบถามผู้ประกอบการ นักลงทุน และประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้ให้บริการบัญชี FCD ในช่วง พ.ย. – ธ.ค. 64 พบว่า สาเหตุที่ทำให้ยังไม่ใช้บัญชี FCD ดังตาราง
5. บทสรุป
การศึกษานี้พบว่าหลังจากผ่อนคลายหลักเกณฑ์การใช้บัญชี FCD และหลักเกณฑ์อื่นในปี 2563 ส่งผลให้ภาพรวมการใช้บัญชี FCD มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ ยังพบว่าพฤติกรรมการใช้บัญชี FCD ของนิติบุคคลและของบุคคลธรรมดามีลักษณะ รูปแบบ รวมถึงวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน โดย (1) นิติบุคคล จะเน้นการใช้บัญชี FCD เพื่อการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดจากการค้า การลงทุน และการกู้ยืมระหว่างประเทศ และมีการเคลื่อนไหวของบัญชีอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ (2) บุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่เปิดบัญชี FCD เพื่อซื้อเงินตราต่างประเทศเพื่อฝากไว้รอชำระภาระในอนาคต โดยหลังจากการผ่อนคลายหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้บัญชี FCD เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ ในปี 2564 บุคคลธรรมดาฝากถอนเงินตราต่างประเทศผ่านบัญชี FCD เพื่อการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ จากผลการศึกษาพบว่า ยังมีผู้ประกอบการบางส่วนที่อาจจะได้ประโยชน์เพิ่มหากได้ใช้บัญชี FCD เป็นเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน คณะผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในระยะต่อไป บัญชี FCD จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะเลือกใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนต่ออัตราแลกเปลี่ยนในตลาดการเงินโลกนับวันจะยิ่งมีความผันผวนมากขึ้นในอนาคต
1 ผู้ที่มีบัญชี FCD อาจมีบัญชี FCD ได้หลายบัญชี ขึ้นอยู่กับความต้องการ
2 ข้อมูลยอดคงค้างบัญชี FCD ทั้งปี มีตั้งแต่ปี 2563
3 การวิเคราะห์นี้ไม่นับรวมนิติบุคคลที่ทำธุรกรรมในเดือนที่ 48 เป็นเดือนแรก เนื่องจากตัวเลขที่แสดงมีความ bias เพราะนิติบุคคลรายดังกล่าวอาจไม่ทำธุรกรรมผ่านบัญชี FCD ในเดือนถัดไป
บทความนี้สำเร็จลุล่วงได้ด้วยความเห็นที่เป็นประโยชน์จากคุณวรรณพร ลักษณะสุต คุณชนานันท์ สุภาดุล คุณจิระพล มหุตติการ และคณะ FAQ Editor: ดร. ณชา อนันต์โชติกุล ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ คณะผู้เขียนขอขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่ง
-
pakgonhttps://pakgon.com/th/author/pakgon/
-
pakgonhttps://pakgon.com/th/author/pakgon/
-
pakgonhttps://pakgon.com/th/author/pakgon/
-
pakgonhttps://pakgon.com/th/author/pakgon/