​ธุรกิจโลจิสติกส์ไทย…จะไปอย่างไรต่อดี?

เมื่อไม่กี่วันก่อน ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมระดมความคิดเห็นต่อร่างกรอบแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566 – 2570) ในกลุ่มนักวิชาการและสถาบันการศึกษา โดยแผนฉบับที่ 13 นี้ประกอบไปด้วยหลายหมุดหมายที่มุ่งเป้าให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวได้ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ หนึ่งในหมุดหมายสำคัญคือ การมุ่งให้ไทยเป็นประตูการค้าการลงทุนและยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์ที่สำคัญของภูมิภาค ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงการพูดคุยหารือร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ในงานเสวนา “Industry Transformation” ที่จัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตั้งแต่เมื่อโควิดระลอกแรกเพิ่งจบ โดยผู้เขียนขอสรุปใจความและข้อเสนอแนะต่อโลจิสติกส์ไทย ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ประกอบการไทยไม่ตกขบวนรถไฟกันครับ

ย้อนเวลากลับไปก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 อันที่จริงแล้ว อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยมีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะจากธุรกิจต่างชาติขนาดใหญ่ ซึ่งได้แย่งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจไทย เนื่องจากมีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารห่วงโซ่อุปทาน มีความเข้มแข็งด้านเครือข่าย มีโมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และยอมขาดทุนเพื่อขยายส่วนแบ่งการตลาด ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่มีเงินทุนจำกัดแข่งขันด้วยได้ยาก

ต่อมา เมื่อเกิดวิกฤตโควิด ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทย โดยเฉพาะต่อธุรกิจการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่หยุดชะงัก อย่างไรก็ดี ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้าภายในประเทศยังเติบโตได้ดี โดยเฉพาะธุรกิจซื้อขายสินค้าออนไลน์ ธุรกิจขนส่งอาหาร ธุรกิจขนส่งพัสดุแบบเร่งด่วน ตามที่เรา ๆ ท่าน ๆ ได้เห็นกันอยู่แล้ว และเมื่อมองไปข้างหน้า อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องจากวิกฤตโควิด ซึ่งกระตุ้นให้การซื้อขายออนไลน์ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคเติบโตอย่างก้าวกระโดด

อย่างไรก็ตาม ผู้เล่นหลักในตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเป็นบริษัทต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทสัญชาติจีน ขณะที่ผู้ประกอบการไทยทำหน้าที่ได้เพียงเป็นผู้ขนส่ง last mile (การขนส่งจากร้านค้าถึงลูกค้าโดยตรง) และต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง กระนั้นแล้ว ผู้ประกอบการไทยยังสามารถรับมือกับความท้าทายและคว้าโอกาสในการเติบโตได้โดย 

1) ขยายตลาดในธุรกิจคลังสินค้าควบคุมอุณหภูมิ โดยเฉพาะกลุ่มแช่เย็น แช่แข็ง ซึ่งยังมีผู้เล่นต่างชาติไม่มากนัก โดยเน้นที่สินค้าด้านสุขภาพ อาหารคุณภาพสูงที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้น (ซึ่งต้องเร่งดำเนินการก่อนที่บริษัทต่างชาติจะกลายเป็นผู้เล่นหลัก) 

2) ขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มธุรกิจสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยยังมีน้อย โดยเฉพาะผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยี เช่น ผู้พัฒนา application หรือ Tech startup ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ให้ประสบความสำเร็จ และ 

3) รักษาส่วนแบ่งตลาดการขนส่งทางบกแบบ Business-to-Business (B2B) ซึ่งผู้ประกอบการไทยในกลุ่ม Trucking Company ยังคงครองสัดส่วนตลาดกว่าร้อยละ 80 ของกลุ่มธุรกิจนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม โดยสร้างความร่วมมือกับบริษัทต่างชาติในลักษณะเป็น sub-contract หรือ outsource การขนส่งในประเทศ โดยเฉพาะการขนส่งแบบ B2B ทางถนนที่ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวโดยการพัฒนาคุณค่าของการให้บริการ (value-added service) และนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับเป็น e-logistics อย่างต่อเนื่อง

และแน่นอนว่า ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งทำหลายสิ่งควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะทำให้หมุดหมายของยุทธศาสตร์ทางโลจิสติกส์เป็นจริงได้ อันได้แก่ 1) การสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ (ecosystem) เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น การกำกับดูแลป้องกันการทุ่มตลาด 2) การสนับสนุนและร่วมมือกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี โดยเฉพาะการเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูล big data ของ startup และ 3) การสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการระดมทุนสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและกระบวนการผลิต เช่น transformation loan เป็นต้น

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ธุรกิจโลจิสติกส์ไทยจะสามารถปรับตัว รับมือกับความท้าทาย และไม่พลาดคว้าโอกาสในยุคการก้าวกระโดดของอีคอมเมิร์ซได้อย่างทันท่วงทีครับ!

ผู้เขียน : 
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวข้อง

เราทำงานร่วมกับทีมผู้นำที่มีความทะเยอทะยานที่ต้องการกำหนดอนาคต ไม่ใช่ซ่อนตัวจากอนาคต เราบรรลุผลลัพธ์ที่ไม่ธรรมดาร่วมกัน